ประวัติ กทพ

ประวัติกองทันตแพทย์ กรมแพทย์ทหารบก และกิจการด้านงานทันตกรรมในกองทัพ
 
          ประวัติกิจการทันตแพทย์ของประเทศไทยในอดีตมีผู้บันทึกไว้น้อยมากในช่วงปีพ.ศ. 2380 - 2466 โดยก่อนมีพระราชบัญญัติการแพทย์ พ.ศ. 2466 การประกอบอาชีพทางทันตกรรม คงเรียกว่า “การช่างฟัน” ผู้ให้การบำบัดรักษาโรคฟันก็เป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาประกอบอาชีพในประเทศไทย ได้แก่ ชาวจีน ญี่ปุ่น แขก และฝรั่งความรู้ในด้านการรักษา คงได้รับการถ่ายทอดมาเป็นทอดๆ ไม่มีการศึกษาอบรม ต่อมาวิชาการแพทย์สมัยใหม่ถูกนำมาเผยแพร่อย่างมากโดยหมอสอนศาสนา และคณะมิชชันนารี ตั้งแต่รัชกาลที่ 3
 
 
พ.ศ. 2431 รัชกาลที่ 5 ได้ทรงตั้งโรงพยาบาลถาวรขึ้นที่ตำบลวังหลัง เพื่อรักษาผู้ป่วยทั่วไปเช่นเดียวกับอารยประเทศ ต่อมาได้พระราชทานนามว่า โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งที่โรงพยาบาลแห่งนี้ ได้มีการรักษาโรคฟันด้วย โดยในพ.ศ. 2434 นายแพทย์ ยอร์ช บี แมคฟารแลน ชาวอเมริกา ซึ่งสำเร็จการศึกษาวิชาแพทย์ และทันตแพทย์จากสหรัฐอเมริกาได้เข้ามาทำงาน เป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราช และได้เปิดคลินิกทำฟันเป็นการส ่วนตัวนอกเวลาราชการด้วยในตอนเย็น ต่อมาท่านผู้นี้ได้ตำแหน่งนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลศิริราชและเป็นผู้วางรากฐานการแพทย์ให้กับโรงพยาบาล จึงนำไปสู่การได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระอาจวิทยาคม
 
พ.ศ. 2436 มีการตั้งองค์กรการกุศลขึ้น เรียก สภาอุนาโลมแดง (สภากาชาด) มีหน้าที่จัดส่งเครื่องยา อาหาร เสบียง ของใช้ต่างๆ ไปช่วยเหลือทหารในสนามรบ
 
พ.ศ. 2443 ตั้งกองแพทย์ขึ้นในกรมยกบัตร เปิดทำการรักษาพยาบาล เมื่อ 7 ม.ค. 2443
 
พ.ศ. 2452 มีการจัดตั้งสถานพยาบาลของสภากาชาดขึ้น ในตอนแรกอยู่ในความควบคุมของ กระทรวงกลาโหม กระทรวงกลาโหมจึงได้ใช้เป็นที่รักษาพยาบาลทหาร เรียก กองพยาบาลทหารบกกลาง ต่อมาได้ใช้เป็นที่ศึกษาอบรมด้านการแพทย ์แก่ทหารและพยาบาลด้วย โดยตั้งโรงเรียนการแพทย์ทหารบกขึ้น ณ ที่แห่งนี้มีการอบรมในเรื่องการดูแลสุขภาพช่องปากด้วย โดยชาวต่างประเทศที่ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช คือ Dr.Rex Day และ Dr.Dew Petersen
 
 
พ.ศ. 2460 ประเทศไทยได้ส่งทหารไปช่วยรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ในทวีปยุโรป โดยกำลังที่ส่งไปประกอบด้วย 1 กองร้อยทหารบกยานยนต์ 1 กองร้อยบินทหารบก และ 1 หมวดพยาบาล ก่อนเดินทางกลับประเทศไทย
 
ในปีพ.ศ. 2461 นายทหารเสนารักษ์ของไทย ได้เข้ารับการอบรมดูงานด้านทันตกรรม และได้นำความรู้ที่รับมา สอนอบรม แก่ พยาบาล เพื่อช่วยดูแลผู้ป่วยของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
 
ต่อมาในปี พ.ศ. 2472 ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนทันตแพทย์ทหารบก ขึ้นในโรงเรียนการแพทย์ทหารบก เพื่อผลิตบุคลากรทันตแพทย์สำหรับการทหาร ซึ่งผลิตได้เพียงรุ่นเดียว ประมาณ 10 คน และได้ล้มเลิกไป
 
พ.ศ. 2475 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง และผลของสงคราม ทำให้มีการปรับปรุงกองทัพบกเป็นอย่างมากสายการแพทย์ ก็ได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยรวม กองเสนารักษ์ที่ 1 (ปากคลองหลอด) และกองเสนารักษ์ที่ 2 (บางซื่อ) มาตั้งใหม่ ที่วังพญาไท ให้ชื่อว่า "กองเสนารักษ์จังหวัดทหารบกกรุงเทพ" โดยพระศัลยเวทยวิศิษฐ (สาย คชเสนี) นายแพทย์ใหญ่ทหารบก ขณะนั้น เห็นว่า การรักษาพยาบาล เป็นหัวใจของการแพทย์ทหาร การมีนายแพทย์แผนปัจจุบัน อยู่ในกองทัพบกไม่กี่คน จะไม่ทำให้การแพทย์ ของกองทัพเจริญได้ จึงเจรจา ขอนายแพทย์ที่มีชื่อเสียงจากโรงพยาบาลศิริราช โอนมารับราชการ ในกองทัพบก 3 นาย หนึ่งในจำนวน นั้นคือ หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ ซึ่งเป็นอายุรแพทย์ และทันตแพทย์ ต่อมาท่านได้รับยศเป็น พันเอก ดำรงตำแหน่ง ผบ.กองเสนารักษ์ มณฑลทหารบกที่ 1 (เทียบเท่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาล พระมงกุฎเกล้า ในเวลาต่อมา) ท่านเคยขอจัดตั้ง คณะทันตแพทย์ขึ้นในจุฬา เมื่อรับราชการใหม่ๆ พ.ศ. 2471 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
 
 
พันเอกหลวงวา่จวิทยาวัฑฒน์เดิมชื่อ วาด แย้มประยูร สอบชิงทุนเล่าเรียนหลวง ในรัชกาลที่ 6 ได้เมื่อ พ.ศ.2460 ไปศึกษาต่อวิชาแพทย์ที่ มหาวิทยาลัยซิราคิว ในสหรัฐ เมื่อจบวิชาแพทย์ ได้ศึกษาวิชาทันตแพทย์เพิ่มเติม และกลับมาประเทศไทย พ.ศ.2469 รับราชการเป็นแพทย์ และสอนนักเรียนแพทย์อยู่ที่ โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในสมัยนั้น ท่านได้จัดหาเก้าอี้ทำฟันที่ทันสมัย มาใช้งานที่โรงพยาบาลศิริราช และมีการถ่ายเอกซเรย์ ฟันด้วย
 
พ.ศ.2474 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น "หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ "
ขณะนั้นในกองเสนารักษ์ก็มีการรักษาโรคฟันอยู่แล้วบ้าง โดยนายทหารเสนารักษ์ ที่ได้รับการอบรมมา พันเอกหลวงวาจก็ช่วยพัฒนาให้ดีขึ้น ท่านได้พยายามขอจัดตั้งคณะทันตแพทย์ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกครั้ง ต่อ อธิการบดี ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศาสตราจารย์ เอ.จี. เอลลิส พ.ศ. 2478-2479) ขณะนั้นแต่ ไม่ประสบผล
 
 
ในระยะนี้การแพทย์ไทยเจริญขึ้น มีการออก พ.ร.บ.ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 ขึ้น มีคำว่า "วิชาชีพทันตกรรม" เกิดขึ้น ในการประกอบโรคศิลปะ วิชาชีพทันตกรรม แบ่งออกเป็น
 
ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมชั้น 1 หมายถึง ผู้ที่ได้รับปริญญาทางทันตกรรมจากต่างประเทศกับ
ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมชั้น 2 หมายถึง ผู้ที่ได้รับความรู้โดยการถ่ายทอดกันมา
 
ในกองเสนารักษ์ มณฑลทหารบกที่ 1 เริ่มมีทันตแพทย์ปริญญาชาวไทยที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ เข้ามารับราชการ โดยนายแพทย์สี สิริสิงห์ จบวิชาทันตแพทย์จากสหรัฐ เข้ามารับราชการเป็นพลทหาร ตำแหน่งทันตแพทย์ เมื่อปี 2476 และ ร.อ.ภักดี ศรลัมภ์ จบทันตแพทย์จากประเทศฟิลิปปินส์ เข้ามารับราชการ ในปี 2479 ยังผลทำให้กิจการทันตกรรม ของทหารเจริญขึ้น
 
 
พ.ศ.2481 กองทัพบก ได้รับอนุมัติให้สร้างตึกทันตกรรมขึ้น ในกองเสนารักษ์ มณฑลทหารบกที่ 1 ด้วยเงินพระราชทานของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ จำนวน 7,000 บาท นับเป็นตึกทันตกรรมหลังแรก ปรากฏว่าราษฎรเลื่อมใสมากได้ร่วมกันบริจาคเงินซื้อเครื่องมือทันตกรรมให้อีกจำนวนหนึ่ง
พ.อ.หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ ได้เสนอโครงการตั้งโรงเรียนทันตแพทย์ ขึ้นในกรมแพทย์ทหารบก และได้รับอนุมัติให้ดำเนินการได้ เพื่อที่จะได้มีแพทย์เฉพาะทาง เช่นเดียวกับต่างประเทศ และให้เดินทางไปศึกษาดูงาน การจัดตั้งโรงเรียนทันตแพทย์ในต่างประเทศ
 
 
ต่อมา จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม อธิการบดีจุฬา ได้เปลี่ยนแผนให้ตั้งแผนกทันตแพทยศาสตร์ ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแทน เมื่อ 16 ม.ค. 2483 และให้ พ.อ.หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ เป็นคณะบดี แผนกทันตแพทย์ศาสตร์ คนแรก นับได้ว่าวิชาการทันตแพทย์เกิดขึ้นในประเทศไทย ด้วยฝีมือของทหารอย่างแท้จริง
 
กองเสนารักษ์ มณฑลทหารบกที่ 1 ยังคงพัฒนางานด้านทันตกรรมต่อไป จนสามารถเป็นที่ฝึกงาน ของ นิสิตทันตแพทย์ได้ใน 15 พ.ค. 2485 โดยมี ร.อ.ภักดี ศรลัมภ์ เป็นหัวหน้าทันตแพทย์ เมื่อ เกิดกรณีพิพาทอินโดจีน นายแพทย์สี สิริสิงห์ ได้ถูกเรียกเข้ารับราชการอีกครั้งและได้ไปสนามรบ เมื่อกลับมา ณ ที่ตั้งปกติ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2485 จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าทันตแพทย์ กองเสนารักษ์ มทบ.1 (อัตรา พ.ต.) ต่อมาได้ ยศพันโท โอนเป็นอาจารย์เอก และได้เป็นคณะบดีคนที่ 2 ของคณะทันตแพทย์
 
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2488) กองเสนารักษ์ เปลี่ยนเป็น "โรงพยาบาลทหารบก" เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรักษาทหาร และพลเรือน ในราวปี 2489 ได้มีการปรับปรุงกิจการแพทย์ ของกองทัพบก ให้ก้าวหน้า โดยกิจการทันตกรรมได้ตั้ง แผนกทันตนามัยขึ้น ในกรมแพทย์ทหารบก (กรมเสนารักษ์ทหารบก) มีหน้าที่ดังนี้
 
1. เสนอแนะการป้องกันโรค และบำบัดโรคฟันทหาร และครอบครัว
2. ควบคุมดูแล กิจการด้านทันตแพทย์ทั่วกองทัพบก
3. จัดหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ เพื่อให้บริการทันตกรรม ทั้งด้านป้องกันและรักษา แก่ทหารตาม กรม กอง ต่างๆ
 
ในระยะแรก มีเก้าอี้ทำฟัน 1 ชุด
 
เมื่อมีโรงพยาบาลทหารเกิดขึ้น (พ.ศ. 2488) จึงมีแผนกทันตกรรมเกิดขึ้นด้วย โดยมีีพ.ต. ภักดี ศรลัมภ์ เป็นหัวหน้าแผนก ในระยะนี้ มี ยูนิตทำฟัน และเครื่องกรอฟัน จำนวน 4 ชุด และเมื่อ 25 พ.ย.2495 ได้เปลี่ยนชื่อ เป็น "โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า"
 
 
พ.ศ.2494 มีการแบ่งส่วนราชการ กรมแพทย์ทหารบก ได้ขยายแผนกทันตนามัย เป็น "กองทันตแพทย์ กรมแพทย์ทหารบก" มี พ.อ.ภักดี ศรลัมภ์ เป็นหัวหน้า ( อัตรา พ.อ. ) ประกอบด้วย 4 แผนก คือ แผนกธุรการ แผนกทันตนามัย แผนกทันตรักษา และแผนกทันตเวชภัณฑ์ และมีรถทันตกรรมเคลื่อนที่ใช้คันแรกในปีพ.ศ. 2516  ในขณะที่แผนกทันตกรรมโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ก็ได้ขยายอัตรา หัวหน้าแผนกจาก พ.ต. เป็น พ.ท. ในปี 2496 โดยมี พ.อ.ภักดี รักษาการหัวหน้าแผนกทันตกรรมอีกตำแหน่งหนึ่ง ท่านผู้นี้ได้ทำคุณประโยชน์ให้วงการทันตแพทย์ทหารบก เป็นอย่างมาก และนับได้ว่า เป็นทันตแพทย์ที่ได้ ยศ อัตรานายพล คนแรก
 
ในปี 2499 นับเป็นปีแรกที่มีการทำหนังสือรายงานกิจการสายแพทย์ ประจำปี ของ กรมแพทย์ทหารบกเกิดขึ้น จึงเริ่มมีการบันทึก ผลงานหน้าที่ของหน่วยงานการแพทย์ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ให้ผู้ที่สนใจทราบ ซึ่งใน ระยะนั้น กรมแพทย์ทหารบก มีการจัดเป็น 9 หน่วยงาน โดยมีกองทันตแพทย์ เป็น 1 ใน 9 หน่วยงานนั้น
 
จากการสำรวจจำนวนทันตแพทย์ ทั่วกองทัพบก เมื่อปีพ.ศ. 2505 มีจำนวนทันตแพทย์บรรจุอยู่เพียง 23 คน ช่างฟัน 25 คน อยู่ในส่วนกลาง 14 คน ภูมิภาค 5 คน อยู่ในหน่วยกำลังรบ 4 คน เช่นที่ จังหวัดลพบุรี นครสวรรค์ ลำปาง พิษณุโลก นครราชสีมา นครศรีธรรมราช อุบลราชธานี อุดร จักรพงษ์ เป็นต้น
 
 
จากการขาดแคลนกำลังพลด้านทันตแพทย์ จึงมีการเปิดหลักสูตร นายสิบทันตกรรม รุ่นที่ 1 ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2501 เพื่อช่วยเหลืองานของทันตแพทย์ และดูแลทหารในหน่วยรบ ซึ่งขาดแคลนทันตแพทย์อย่างมาก ปัจจุบันนี้ มีผู้สำเร็จไปแล้ว 20 รุ่น สามารถช่วยเหลืองานทันตกรรม ของ กองทัพบกได้เป็นอย่างดี
 
ปัจจุบันมีทันตแพทย์รับราชการทหาร กระจายกันอยู่ทั่วประเทศ ในโรงพยาบาลกองทัพบก 37 แห่ง หน่วยตรวจโรค และหน่วยกำลังรบบางแห่งที่ทำงานในหน้าที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่งานด้านทันตกรรมโดยตรง และมีผู้ที่อยู่ในระหว่างลาศึกษาต่อด้วย สำหรับชั้นยศสูงสุดของทันตแพทย์ คือ อัตรา พ.อ.(พิเศษ) ซึ่งมีอยู่ 4 แห่งได้แก่ ผู้อำนวยการกองทันตแพทย์ กรมแพทย์ทหารบ ผู้อำนวยการกองทันตกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ผู้อำนวยการกองทันตกรรมโรงพยาบาลอานันทมหิดล และผู้อำนวยการกองทันตกรรม โรงพยาบาลค่ายสุรนารี
 
ในปี พ.ศ.2554 ถือเป็นปีแห่งการครบรอบ 60 ปี ของกองทันตแพทย์ กรมแพทย์ทหารบก ที่ยังคงปฏิบัติภารกิจด้านทันตกรรม ตามที่ได้รับมอบหมายจากกองทัพบกและกรมแพทย์ทหารบก ทั้งในด้านอำนวยการ ได้แก่การวางแผน กำกับดูแลกำลังพลและสิ่งอุปกรณ์ทางทันตกรรม และสนับสนุนหน่วยงานทันตกรรมในกองทัพบก ด้านวิชาการ ได้แก่การพัฒนาหลักสูตรการศึกษาการฝึกอบรม การจัดทำคุณลักษณะสิ่งอุปกรณ์ และการวิจัยทางทันตกรรม และด้านบริการ ได้แก่การรักษาทางทันตกรรมและส่งเสริมทันตสุขภาพ แก่กำลังพลของกองทัพ และยังคงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการปฏิบัติงานในทุกๆด้านอย่างต่อเนื่อง 

ทำเนียบผู้บังคับบัญชา กองทันตแพทย์ กรมแพทย์ทหารบก
1. พ.อ.ภักดี  ศรลัมพ์                                    พ.ศ. 2500 - 2514
2. พ.อ.ถเกิง  ประเสริฐสุนทราศัย                       พ.ศ. 2514 - 2515
3. พ.อ.พิศาล  เทพสิทธา                               พ.ศ. 2515 - 2520
4. พ.อ.วิวัฒน์  นนทวนิช                                 พ.ศ. 2520 - 2521
5. พ.อ.ชนาธิป  อมาตยกุล                              พ.ศ. 2521 - 2523
6. พ.อ.ประนิธิ  ฉายะบุตร                                พ.ศ. 2523 - 2531
7. พ.อ.ทวีศักดิ์  ทวีศรี                                   พ.ศ. 2531 - 2536
8. พ.อ.อำนาจ  ธรรมจินดา                              พ.ศ. 2536 - 2542
9. พ.อ.ปรีชา  อนันตะ                                    พ.ศ. 2542 - 2547
10. พ.อ.หญิง ดารนี  จินดาพล                          พ.ศ. 2547 - 2548
11. พ.อ.ปรีชา  อนันตะ                                   พ.ศ. 2548 - 2550
11. พ.อ.พิสุทธิ์  บุตรงามดี                               พ.ศ. 2550 - 2557
12. พ.อ.หญิง จอมขวัญ  แสงบัวแก้ว                   พ.ศ. 2557 - ปัจจุบัน

สถิติและบริการ